อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
ข้อมูลพื้นฐาน

เทศบาลเมืองตะกั่วป่า

  ประวัติเมืองตะกั่วป่า

 จากการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์พบว่าเดิมเมืองตะกั่วป่า เป็นเมืองเก่าและเป็นศูนย์กลางการค้าแร่ขนาดใหญ่ ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ซึ่งในสมัยโบราณได้กล่าวถึงเมืองท่าที่สำคัญทางตะวันออก “สุวรรณภูมิ” อยู่บริเวณแหลมมลายูหรือแหลมทองทางตะวันตกตั้งแต่ตะโกลา (Takola) มีเมืองท่าตะโกลา (Takola) วรรณคดีอินเดียโบราณเรียกว่า “สุวรรณทวีป” ดินแดนที่เรียกว่า “สุวรรณทวีป” มีเมืองท่าที่สำคัญที่นักโบราณคดีว่าไว้ ได้แก่ “เมืองตะกั่วป่า” (Takuapa)

  “ตะกั่วป่า” เดิมเป็นเมืองเรียกว่า “เมืองตะกั่วป่า” แต่ในสมัยโบราณ คือ เมืองตะโกลาเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งของฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้มีความเจริญรุ่งเรืองมาพร้อมๆ กับเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองไทรบุรี ชาวพื้นเมืองเดิมเป็นชาวป่าพวกหนึ่ง เรียกว่า “ซาไก” ต่อมาชาวมลายูได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในดินแดนแถบนี้ประมาณ พ.ศ. 200 – 300 พระเจ้าอโศกมหาราชจักรพรรดิแห่งประเทศอินเดียได้ยกกองทัพมาปราบแคว้นกลิงคราษฎร์ ในดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ ชาวกลิงคราษฎร์บางพวก จึงได้อพยพมาขึ้นที่เมืองตะกั่วป่า และเมืองใกล้เคียงโดยได้นำความรู้ต่างๆ มาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้ด้วยเมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ที่ชนชาติทางตะวันตกรู้จักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชนชาติอินเดีย ซึ่งได้มาถึงเมืองนี้ก่อนชนชาติอื่นๆ ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือมิลินทปัญหาซึ่งได้เขียนไว้เมื่อประมาณ พ.ศ. 500 ว่าชาวอินเดียเรียกเมือง
ตะกั่วป่าว่า “เมืองตกุโกล” หรือ “ตกโกล” ในภาษาบาลีและ ตกุลในภาษาสิงหล แปลว่า กระวาน เหตุผลที่ได้เรียกชื่อดังนี้ น่าจะสืบเนื่องมาจากเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศ และในเวลาต่อมาชาวกรีก อาหรับและเปอร์เซียเข้ามาทำการค้าขายติดต่อด้วย ปรากฏตามจดหมายเหตุของปโตเลมี เรียกเมืองนี้ว่า “ตะโกลา” อาหรับเรียกว่า “กะกุละ” หรือ “กะโกละ” นอกจากนี้ ยังมีชาวจีนได้นำเอาเครื่องกระเบื้องเข้ามาค้าขายยังถิ่นฐานนี้ตั้งแต่ 1,600 ปีมาแล้ว และก็มีชนชาติต่างๆ เข้ามาติดต่อค้าขายในพื้นที่แห่งนี้

  เมืองตะกั่วป่าหรือเมืองตะโกลานั้น เดิมขึ้นอยู่ในปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็น  เมืองเอกราชของประเทศศรีวิชัย แต่เมื่อประมาณ พ.ศ. 1832 ชนชาติไทยได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในแคว้นสุวรรณภูมิ และมีอำนาจมากขึ้นจนตีได้เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองตะกั่วป่า ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2437 ได้แบ่งการปกครองหัวเมืองต่างๆ ออกเป็นมณฑลและจังหวัด เมืองตะกั่วป่าจึงมีฐานะเป็นจังหวัดขึ้นกับมณฑลภูเก็ต และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เมืองตะกั่วป่าจึงถูกลดลำดับความสำคัญจากจังหวัด ตะกั่วป่าลงมาเป็นอำเภอตะกั่วป่าขึ้นกับจังหวัดพังงา เมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยศูนย์กลางการปกครองได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอเมือง  (ชุมชนบ้านย่านยาว  ในปัจจุบัน)

 เทศบาลเมืองตะกั่วป่า จัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พุทธศักราช 2480 โดยที่เห็นสมควรให้ยกฐานะบางส่วนของตำบลตลาดเหนือ ตำบลตลาดใต้ และตำบลย่านยาว อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ขึ้นเป็นเทศบาลเมืองมีนามว่า เทศบาลเมืองตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม พุทธศักราช 2480

 

 ดวงตราสัญลักษณ์ประจำเทศบาล

 

   เทศบาลเมืองตะกั่วป่า มีดวงตราสัญลักษณ์เป็นรูป “พระนารายณ์” ซึ่ง มีความเป็นมาที่น่าสนใจและนำมาสู่การนำมาเป็นสัญลักษณ์ของเทศบาลเมืองตะกั่วป่า ดังนี้

 “พระนารายณ์” เป็นเทวรูปอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวเมืองตะกั่วป่าแกะสลักด้วยหินซิสต์พิงอยู่ใต้ต้นตะแบกบริเวณคลองสามแพร่ง คือ คลองหลังพม่า คลองกะปงและลำน้ำตะกั่วป่า เรียกว่า ปากเวียง โดย พระนารายณ์เป็นประติมากรรมฝ่ายศาสนาพราหมณ์

 อนึ่ง ปรากฏว่าพระนารายณ์ดังกล่าวมีประวัติว่า ดร.ควอรีตซ์ เวลส์ นักศึกษาโบราณคดี ชาวอังกฤษได้สันนิษฐานไว้เมื่อ พ.ศ. 2478 ว่าชาวอินเดียคงจะเป็นผู้นำมาเมื่อคราวที่วัฒนธรรมและศิลปกรรมอินเดียได้ถูกนำมาเผยแพร่ทางตะวันออก และมีผู้เล่าขานกันว่าชาวพม่าเคยมาลักพาไปแต่ไม่สำเร็จเพราะเกิดพายุและฝนตกหนัก จึงต้องนำมาคืนทิ้งไว้ริมฝั่งกับเมื่อคราวหนึ่งมุงหลังคาก็เกิดมีพายุฝนตกน้ำท่วมบ้านท่วมเมืองเลยต้องปล่อยทิ้งไว้กลางแจ้ง ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว เทศบาลจึงได้นำมาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำเทศบาล

 ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน

  การตั้งถิ่นฐานทางภาคใต้พบว่าไม่มีชุมชนโบราณตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นภูเขาเลย ส่วนใหญ่ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ราบหรือบนเนินทรายที่น้ำท่วมไม่ถึง ชุมชนเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ ในบริเวณ ที่เอื้ออำนวยต่อการติดต่อกับภายนอก ลักษณะภูมิประเทศทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกเป็นแผ่นดินแคบ คาบสมุทรทอดยาวไปจนจรดสหพันธรัฐมาเลเซีย การเชื่อมโยงติดต่อกันนั้นนอกจากจะมีเทือกเขา ลำน้ำสายต่างๆ และพื้นที่ราบที่ออกสู่ทะเลแล้วยังสามารถทำเป็นอ่าวจอดเรือได้เป็นอย่างดี จากลักษณะการตั้งถิ่นฐานไม่ปรากฏพบกลุ่มของชุมชนโบราณที่เห็นเป็นรูปร่างได้ แต่เริ่มเห็นในเขตอำเภอตะกั่วป่าตั้งแต่บริเวณเกาะคอเขาตอนปากคลองตะกั่วป่า  เข้ามาตามลำคลองที่มีชุมชนกระจายตัวอยู่ตามลำน้ำจนเกือบถึงเชิงเทือกเขาศกที่เป็นต้นน้ำ ชุมชนในอำเภอตะกั่วป่าตั้งแต่บริเวณเกาะคอเขาตอนปากคลองตะกั่วป่า ส่วนเมืองพังงานั้นเป็นเมืองใหม่ จากประวัติของเมืองตะกั่วป่าพบว่าเป็นชุมชนเก่าที่มีสถาปัตยกรรมชิโน - โปรตุกีส เกิดขึ้นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ 7

  การวางผังเมืองหรือการตั้งชุมชนในยุคแรกของชุมชนตะกั่วป่า (เก่า) ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุด จะตั้งเมืองอยู่ในบริเวณคุ้งน้ำของคลองตะกั่วป่า ในจุดที่น้ำลึกไหลช้าทำให้ง่ายต่อการเทียบเรือสินค้าขนาดใหญ่และการตั้งเมืองโอบล้อมของหุบเขาลักษณะของการวางที่ดินเป็นผืนแคบยาวเกาะไปตามถนน มีความลึกของที่ดินไม่แน่นอน รูปแบบทางศิลปกรรมและลักษณะตัวอักษรของศิลาจารึกที่พบในเขตอำเภอตะกั่วป่านี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการตั้งหลักแหล่งของพวกอินเดียใต้ จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์พบว่ากลุ่มชุมชนเก่าที่อาศัยอยู่ในเมืองตะกั่วป่า มีสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส ที่เกิดจากอิทธิพลทางการค้ากับชาวต่างชาติ ซึ่งสามารถแยกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 ได้แก่ อาคารชิโน - โปรตุกีส เป็นอาคารที่มีโครงสร้างเป็นกำแพงรับน้ำหนัก มีอาณาเขตด้านหน้าอาคารและมีลวดลายประดับอาคารเป็นยุโรป เช่น ที่หัวเสาปูนปั้นประดับผนังอาคารหรือขอหน้าต่าง โดยนับรวมถึงอาคารทรงจีน ที่มักไม่ค่อยมีการตกแต่งลวดลายใด ๆ บนอาคารเอาไว้ในกลุ่มนี้

ประเภทที่ 2 ได้แก่ อาคารชิโน-โปรตุกีสประยุกต์ เป็นอาคารที่เป็นโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก จะมีอาณาเขตหรือไม่มีก็ได้ แต่ต้องมีลวดลายประดับอาคารในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลวดลายแบบจีนหรือยุโรปหรือแบบอุตสาหกรรม

ประเภทที่ 3 ได้แก่ สถาปัตยกรรมท้องถิ่น เป็นอาคารเรือนแถวไม้ที่พบเป็นส่วนใหญ่ในพื้นที่มีอาณาเขตหรือไม่มีก็ได้ โดยมีหลักในการพิจารณา คือ ความหนาแน่น ความต่อเนื่องหรือความกระจุกตัวของอาคารในพื้นที่ และพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งและบทบาทการใช้สอยอาคารที่มีความสำคัญต่อชุมชนเก่านั้นด้วย

สภาพปัจจุบันของพื้นที่ชุมชนบนถนนศรีตะกั่วป่าตั้งอยู่ริมคลองตะกั่วป่า มีถนนสายสำคัญ 5 สาย คือ ถนนศรีตะกั่วป่า ถนนอุดมธารา ถนนกลั่นแก้ว ถนนมนตรี 2 และถนนหน้าเมือง โดยมีถนน ศรีตะกั่วป่า เป็นถนนสายหลัก และเป็นศูนย์กลางที่ตั้งของชุมชนมีอาคารรูปแบบชิโน-โปรตุกีส อยู่อย่างหนาแน่นและค่อนข้างสมบูรณ์ตลอดแนวยาวริมถนนอุดมธาราและบนถนนสายนี้ยังเป็นที่ตั้งของ กำแพงจวนเจ้าเมือง ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สำคัญ โดยอยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร ที่ตั้งของกำแพงค่ายเมืองตั้งอยู่ใกล้กับคลองตะกั่วป่าบริเวณสามแยกคลองปิกับคลองตะกั่วป่า การเข้าถึงในปัจจุบันและการติดต่อกับเมืองอื่นๆ  ยัง  คงเป็นถนนสายเดียว  และมีสภาพคดเคี้ยวผ่านแนวเทือกเขาที่สลับซับซ้อน สภาพของการจราจรเป็นไปอย่างบางเบา เหมาะกับการอนุรักษ์เมืองในขณะเดียวกันก็ควรจะพัฒนาเสริมศักยภาพของเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวา ที่สามารถทำให้เมืองตะกั่วป่าสามารถดูแลตัวเองได้และมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนซึ่งปัจจุบันนี้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตชุมชนตลาดใหญ่ 

ตาราง แสดงประวัติศาสตร์และลักษณะการตั้งถิ่นฐานของเมืองตะกั่วป่า

ช่วงระยะเวลา

ลักษณะการพัฒนา

พ.ศ. 2148 – 2163

เมืองตะกั่วป่าขึ้นอยู่กับฝ่ายกลาโหม ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ

พ.ศ. 2199 – 2231

เมืองตะกั่วป่าเป็นหัวเมืองชั้นตรี ขึ้นกับกรมท่า ตลอดสมัยอยุธยา

พ.ศ. 2310 – 2325

เมืองตะกั่วป่า อยู่ในความปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พ.ศ. 2328

ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมืองตะกั่วป่าขึ้นอยู่ในการปกครองของเมืองถลาง 

พ.ศ. 2404

เมืองตะกั่วป่าได้รับการยกฐานะเป็นเมืองโทอีกครั้ง

พ.ศ. 2437

แก้ไขการปกครองให้เมืองตะกั่วป่าไปขึ้นกับมณฑลภูเก็ต

พ.ศ. 2444

ย้ายเมืองตะกั่วป่าไปตั้งที่เมืองใหม่ ตำบลเกาะคอเขา

พ.ศ. 2453

ยกเลิกเมืองเปลี่ยนเป็นจังหวัด เมืองตะกั่วป่าได้ยกฐานะเป็นจังหวัดตะกั่วป่า

พ.ศ. 2456

ย้ายเมืองตะกั่วป่าจากเกาะคอเขามาตั้ง ณ เมืองตะกั่วป่าในปัจจุบัน

พ.ศ. 2474

จังหวัดตะกั่วป่า ถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดพังงา

พ.ศ. 2480

มี พ.ร.ฎ.จัดตั้งเทศบาลเมืองตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา 

 

ที่ตั้ง

 เทศบาลเมืองตะกั่วป่า  ตำบลตะกั่วป่า  มีที่ตั้งอยู่ในเขตตำบลตะกั่วป่า เป็นตำบลหนึ่งใน 8 ตำบล ของอำเภอตะกั่วป่า (อำเภอตะกั่วป่า มี 8 ตำบล คือ ตะกั่วป่า บางนายสี บางม่วง คึกคัก โคกเคียน บางไทร ตำตัว และเกาะคอเขา)  จังหวัดพังงา 

  สำนักงานเทศบาลเมืองตะกั่วป่า ตั้งอยู่ที่ 333 ถ.ราษฎร์บำรุง ต.ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีเนื้อที่ ประมาณ 8 ไร่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า ประมาณ 350 เมตร ห่างจากอำเภอเมืองพังงาประมาณ 69 กิโลเมตร และห่างจากเมืองหลวง (กรุงเทพมหานคร) ประมาณ 800 กิโลเมตร

อาณาเขต

 เทศบาลเมืองตะกั่วป่า มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3.019  ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ 1,887 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับหน่วยปกครองท้องถิ่นอื่นๆ ดังนี้

  •  ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบางนายสี
  •  ทิศใต้ ติดต่อกับ คลองตำบลบางไทร  และตำบลบางนายสี
  •  ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลโคกเคียน  และตำบลบางนายสี
  •  ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบางนายสี  และตำบลบางไทร

ลักษณะภูมิประเทศ

 เทศบาลเมืองตะกั่วป่า มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับกับที่ราบริมน้ำ เป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งคลองสายสำคัญของเมืองตะกั่วป่า  คือ  คลองตะกั่วป่า มีภูเขาที่สำคัญรอบเขตเทศบาล คือ เขาวังมรา  เขาพระบาท  และมีคลองที่สำคัญ  คือ  คลองบางน้ำใส  คลองบางอ้อ และคลองตะกั่วป่า  แต่ในปัจจุบันคลองตะกั่วป่ามีลักษณะตื้นเขิน  ทำให้พื้นที่ในเขตเทศบาลฯมีน้ำท่วมบ่อยครั้งในฤดูฝน

ลักษณะภูมิอากาศ

 อำเภอตะกั่วป่า ตั้งอยู่บริเวณแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้รับอิทธิพลของลมมรสุม 2 ฤดู ทำให้ภูมิอากาศมีลักษณะแบบร้อนชื้น กล่าวคือ ช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมจะทำให้มีอากาศร้อน และแห้งแล้ง แต่ในช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมก็จะทำให้มีฝนตกชุก ซึ่งช่วงระยะของฤดูฝนจะยาวนานกว่าฤดูร้อน

ลักษณะภูมิอากาศแบ่งออกได้ 2 ฤดู คือ 

  • ฤดูร้อน ระหว่างเดือน ตุลาคม – เมษายน อุณหภูมิ
  • ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กันยายน อุณหภูมิเฉลี่ย

 อิทธิพลของลมมรสุมพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือโดยจะเริ่มประมาณ เดือนธันวาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะเริ่มประมาณเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนพฤศจิกายน จากอิทธิพลของลมมรสุมดังกล่าว ทำให้สภาพภูมิอากาศในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม มีอากาศร้อน แห้งแล้ง แต่จะมีฝนตกบ้าง สำหรับในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนพฤศจิกายน และได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาทำให้มีฝนตกชุกตลอดช่วง

ฝน

ปริมาณน้ำฝน ในปี

 

จำนวนประชากร

7,902 คน (ข้อมูลเดือน กรกฎาคม 2565)